กวิน ทังสุพานิช ถึงเวลาต้องศึกษาพลังงานทดแทนอย่างจริงจัง

IMG_6037

การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศส่งผลให้มีการใช้พลังงานมากขึ้น การกำกับดูแลด้านพลังงานให้เกิดความยุติธรรมทั้งต่อผู้ประกอบการด้านพลังงานและผู้บริโภคจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นองค์กรอิสระที่เข้ามากำกับดูแลพลังงานของไทยมาเป็นระยะเวลากว่า 5 ปี

กวิน ทังสุพานิช เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงานพ.ศ. 2550 เพื่อปรับโครงสร้างการบริหารกิจการพลังงาน โดยแยกงานนโยบายงานกำกับดูแล และการประกอบกิจการพลังงานออกจากกัน เปิดโอกาสให้ภาคเอกชน ชุมชนและประชาชนมีส่วนร่วมและมีบทบาทมากขึ้น รวมทั้งให้การประกอบกิจการพลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความมั่นคง มีปริมาณเพียงพอและทั่วถึงในราคาที่เป็นธรรมและมีคุณภาพได้มาตรฐาน ตอบสนองต่อความต้องการและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

พลังงานที่กำกับดูแลได้แก่ พลังงานไฟฟ้าและก๊าชธรรมชาติ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่จัดตั้งเพื่อให้กำกับดูแลมีความโปร่งใสและเป็นกลางโดยเฉพาะด้านราคา

ในส่วนของพลังงานไฟฟ้า กำกับตั้งแต่การผลิต การจัดส่ง การจำหน่าย และศูนย์สั่งจ่ายไฟฟ้า ส่วนก๊าชธรรมชาติ จะดูแลตั้งแต่การนำก๊าชเข้าท่อ การขนส่งผ่านท่อก๊าชและเข้าสู่โรงไฟฟ้า ตลอดจนการนำเข้าไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อดูแลและจัดหาให้เพียงพอกับความต้องการใช้พลังงานของประเทศ

“เรามีหน้าที่รับนโยบายจากรัฐบาลว่าจะจัดหาไฟฟ้าในลักษณะไหน เช่น มีโรงไฟฟ้าเข้ามาระบบอย่างไร กำลังผลิตเท่าไหร่ ก๊าชธรรมชาติ ที่จัดหาจากอ่าวไทยเพียงพอหรือไม่ ไม่เพียงแค่นี้ยังครอบคลุมถึงการให้บริการของผู้ประกอบการ เราได้ออกกฎกติกาต่างๆ เพื่อให้มีมาตรฐานความปลอดภัย และประสิทธิภาพการผลิตเพื่อเป็นหลักประกันว่าประชาชนมั่นใจได้ เนื่องจากเรามีมาตรฐานที่พอเพียงซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสากล” ในส่วนของผู้บริโภค กกพ.ดูแลเรื่องค่าไฟฟ้าให้มีความเป็นธรรม เปิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ซึ่งเรามีบทบาทในการกำหนดค่าไฟฟ้า เช่น ทุก 4 เดือนมีการพิจารณาอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) ซึ่งต้องดูต้นทุนผันแปร เช่น เรื่องเชื้อเพลิง อัตราค่าแลกเปลี่ยน ว่ามีผลกระทบอย่างไรจึงจะขึ้นราคาได้ ส่วนราคาก๊าชก็เช่นกัน ดูเรื่องการกำหนดราคาก๊าช ราคาขนส่งทั้งหมดที่เป็นสูตรของต้นทุน ไม่เพียงแค่นี้ยังมีการคุ้มครองผู้บริโภค พิจารณาให้บริการไฟฟ้าแก่ประชาชนอย่างทั่วถึงในพื้นที่ห่างไกล

อีกเรื่องหนึ่งถือว่าเป็นหน้าที่โดยตรง คือการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้า เราจะเข้ามาดูแลเรื่องการกำหนดมาตรการต่างๆ จะทำหน้าที่ในการรับเรื่องร้องเรียนแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ และได้มีการตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เก็บเงินจากผู้ประกอบการมาดูแลชุมชนโดยใช้เงินในกองทุนมาใช้จ่ายในพื้นที่ และเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่เข้ามาบริหารจัดการเอง ปัจจุบันมีเงินอยู่ 2 พันกว่าล้านบาท

สถานการณ์การใช้พลังงานในปัจจุบัน เพิ่มขึ้นโดยตลอด และไทยยังต้องนำเข้าพลังงาน ทั้งน้ำมันและก๊าชธรรมชาติซึ่งก๊าชธรรมชาติที่ผลิตเองได้กว่าร้อยละ 60 ขณะนี้ยังสามารถบริหารจัดการได้อย่างพอเพียง แต่ต้องระมัดระวังในการใช้และต้องมีการคิดค้นแหล่งพลังงานใหม่

เรื่องที่ต้องพิจารณา คือ สัดส่วนการใช้ยังกระจุกตัวกับพลังงานบางประเภทมากเกินไป โดยผลิตไฟฟ้าจากก๊าชธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง 70% พลังงานถ่านหิน 10% พลังงานน้ำ 10% ซึ่งต้องปรับโครงสร้างให้กระจายเชื้อเพลิง เพื่อลดความเสี่ยง โดยจะลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าชธรรมชาติให้เหลือ 40% ถ่านหินอาจจะเพิ่มขึ้น 10% ส่วนเรื่องพลังงานนิวเคลียร์ก็ต้องนำมาพิจารณาเพราะเป็นพลังงานสะอาด

อย่างไรก็ตามการวางแผนพลังงานระยะยาว ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ดังนั้นจำเป็นต้องคิดค้นเรื่องการนำพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนเข้ามาศึกษาอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ซึ่งดูความเหมาะสมว่าพลังงานประเภทไหนมีศักยภาพมากกว่า

นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาเรื่องพลังงานชีวมวลมาผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นพืชผลด้านการเกษตรมาผลิต สามารถเพาะปลูกได้ การใช้ไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลมากขึ้นจะช่วยด้านความมั่นคงของประเทศ ดังจะเห็นได้ว่า พลังงานทดแทนจะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้สถานการณ์พลังงานภายในประเทศมีความมั่นคงและยั่งยืนขึ้นไป

ใส่ความเห็น