ทิศทางเศรษฐกิจโลกปี 2556

                 จากแรงผลักดันในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศต่างๆทั่วโลกที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง  ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2556  มีทิศทางดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา   แต่บนเส้นทางการฟื้นตัว ยังมีความท้าทายหลายด้านที่อาจฉุดรั้งการขยายตัวให้เป็นไปในอัตราต่ำกว่าศักยภาพได้ในทุกขณะ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเศรษฐกิจที่เป็นแกนหลักของโลก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศ G3 หรือ จีน ที่การดำเนินมาตรการใดๆ หรือความพลิกผันที่เกิดขึ้นจะเป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลส่งผลกระทบขยายเป็นวงกว้าง และสร้างแรงกดดันต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในหลายๆภูมิภาคของโลกอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง

เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวต่อเนื่อง…………. แต่ยังมีความเปราะบาง

                สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาสสี่ปี 2555 หลังผ่านพ้นจุดต่ำสุดที่เกิดจากผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจยุโรปอย่างรุนแรง  โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน และประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มีโมเมนตัมเติบโตต่อเนื่องไปในปี 2556   แต่บนเส้นทางการเติบโต ยังมีความไม่แน่นอนสูงเพราะถูกกดดันด้วยแน่นอนสูง เพราะไปในปี 2556  ความล่าช้าของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนเนื่องจากการดำเนินนโยบายการคลังแบบเข้มงวดของประเทศสมาชิก จนกลายเป็นปัญหาทางการเมืองในหลายๆประเทศ  เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่ยังมีข้อจำกัดการฟื้นตัวจากการแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยนในปีที่ผ่านมา  ทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและจะเร่งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองล่าสุดในเดือนมกราคม 2556 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 เทียบกับร้อยละ 3.2 ในปี 2555 แต่เป็นตัวเลขที่ลดลงจากการคาดการณ์ในเดือนตุลาคม 2555   โดยมีมุมมองค่อนข้างทรงตัวสำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังจากสามารถเลี่ยงความเสี่ยงจากหน้าผาการคลัง(Fiscal Cliff ) ไปบางส่วนได้ แต่มีมุมมองที่แย่ลงสำหรับประเทศยูโรโซน โดยเฉพาะเยอรมนี และอิตาลี   ขณะที่มีมุมมองที่เป็นบวกสำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชีย ที่สำคัญ ได้แก่ จีน ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตถึงร้อยละ 8.2 เทียบกับร้อยละ 7.8 ในปีก่อนหน้า

P1

ทั้งนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆยังคงไม่แข็งแกร่ง และบ่งบอกถึงการฟื้นตัวอย่างเปราะบางของเศรษฐกิจโลก สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Manager Index: PMI) ของภาคอุตสาหกรรมในปลายปี 2555 ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดแนวโน้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอนาคต ยังอยู่ระดับใกล้เคียงกับ 50   ซึ่งบ่ง

P4บอกถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้าอยู่ในระดับทรงตัว ด้วยแรงฉุดจากเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยุโรป รวมทั้งญี่ปุ่น

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ทยอยฟื้นตัว หลังหลีกเลี่ยงเผชิญ “หน้าผาการคลัง” แบบเต็มรูปแบบ

               เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2555 ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป  โดยมีปัจจัยหนุนจากการเพิ่มค่าใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะการใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศในช่วงครึ่งปีแรก และการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนในภาคก่อสร้างในช่วงครึ่งปีหลัง กอปรกับสหรัฐฯยังคงดำเนินนโยบายทางการเงินผ่อนคลายต่อเนื่องทั้งการยืนนโยบายดอกเบี้ยต่ำและการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยไม่มีกำหนดจนกว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ  ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯทั้งปี 2555  ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.3 เทียบกับร้อยละ 1.8 ในปี 2554P3

สำหรับในปี 2556 เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ 1) การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนี PMI อยู่ที่ระดับ 53.1 เดือนมกราคม 2556 ยืนเหนือระดับ 50 ติดต่อกันสองเดือน และมากกว่าค่าเฉลี่ยทั้งปี 2555 ซึ่งบ่งบอกถึงการขยายตัวของการผลิต 2) การปรับตัวดีขึ้นของภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยมีความต้องการคงค้าง (Pent up demand) ที่สะสมในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเป็นแรงหนุน  3)การปรับตัวดีขึ้นของงบดุลภาคครัวเรือนและธุรกิจภาคเอกชน โดยเฉพาะการลดลงของภาระหนี้สินภาคครัวเรือนที่อยู่ระดับต่ำสุดนับจากปี 2547 4)การดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing หรือ QE) อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด QE3 เป็นการอนุมัติวงเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน และ QE4 เป็นการอนุมัติวงเงินเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ  ซึ่งรวม QE ทั้งหมดที่ธนาคารกลางสหรัฐฯกำลังดำเนินการมีมูลค่าเท่ากับเดือนละ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยจุดมุ่งหมายสำคัญคือการดึงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้ลดลงมา เพื่อเอื้อให้เกิดการลงทุน อย่างไรก็ตาม ตลาดแรงงาน ยังคงฟื้นตัวช้า สะท้อนจากอัตราการว่างงานในเดือนมกราคม 2556 ยังอยู่ระดับสูงที่ร้อยละ 7.9 (เป้าหมายอยู่ที่ร้อยละ 6.5)

ทั้งนี้  สหรัฐฯ ยังคงต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงด้านการคลังอยู่ โดยเฉพาะหน้าผาการคลัง(Fiscal Cliff) ซึ่งหมายถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการหมดวาระลงของชุดมาตรการผ่อนปรนภาษีในช่วงสิ้นปี 2555 และการปรับลดรายจ่ายภาครัฐที่เริ่มต้นในช่วงต้นปี 2556   เนื่องจากการแก้ปัญหาในเดือนมกราคม 2556 โดยเลือกการขึ้นภาษีเฉพาะคนรวยแทนที่จะกระทบคนทั้งหมด และเลื่อนการพิจารณาแผนการตัดลดงบประมาณรายจ่ายปีละ 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเวลา 10 ปีออกไปอีก 2 เดือนข้างหน้า เปรียบเสมือนการซื้อเวลาไม่ใช่การแก้ไขปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ เพราะปัญหาหน้าผาการคลังยังคงมีอยู่ เพียงแต่ลดขนาดความรุนแรงลง  และทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงขยายตัวต่อไป แต่จะเป็นอัตราขยายตัวที่ต่ำ จากที่มีโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯต้องเผชิญกับภาวะถดถอยในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 หากไม่ทำอะไร  นอกจากนี้ ยังความเสี่ยงที่ต้องมีการขยายเพดานหนี้อีกต่อไป ตราบที่ภาระหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูง  โดย Public Debt อยู่ที่ร้อยละ 101.6 ของ GDP ณ สิ้นไตรมาสสามของปี 2555  แม้เหตุการณ์ล่าสุดวุฒิสภาสหรัฐฯ อนุมัติให้ขยายเพดานหนี้จนเต็มเพดานการกู้เงินของรัฐบาล 16.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ออกไปเป็นการชั่วคราว จนถึงเดือนพฤษภาคม 2555 ก็ตาม

เศรษฐกิจประเทศยูโรโซน………..ยังคงอ่อนไหว

            เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนในภาพรวมยังคงอยู่ในภาวะหดตัวที่ร้อยละ 0.5 และอัตราการว่างงานยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในไตรมาสสี่ปี 2555 อยู่ที่ร้อยละ 11.7 สูงสุดในรอบ 17 ปี แม้จะมีการออกมาตรการหลายชุดเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจเมื่อความเสี่ยงของของวิกฤติหนี้ยูโรโซนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ การประกาศรับซื้อพันธบัตรของประ​เทศต่างๆ​ในยู​โร​โซนโดยธนาคารกลางยุโรป(ECB) ภาย​ใต้​โครง​การ Outright  Monetary Transactions (OMTs) ซึ่ง​เป็น​การซื้อ​โดย​ไม่จำกัดจำนวน ​และ​การ​ทำธุรกรรมดังกล่าวจะมุ่ง​เน้น​ไปที่​การฉุดต้นทุน​การกู้ยืม​ให้ปรับตัวลดลง เช่นเดียวกับการตรึงอัตราดอก​เบี้ย​ไว้ที่ระดับต่ำสุด​เป็นประวัติ​ การณ์ที่ร้อยละ 0.75     อย่างไรก็ตามความหวังที่จะหลุดพ้นจากภาวะถดถอยยังต้องใช้เวลา โดยภาคเศรษฐกิจจริงยังคงอยู่ในภาวะไม่ฟื้นตัวซึ่งเป็นผลจากมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังอย่างเข้มงวด  สะท้อนจากดัชนี PMI ในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ร่วงลงสู่ระดับ 47.1 จากระดับ 48.6 ในเดือนก่อน ซึ่งระดับต่ำกว่า 50 บ่งชี้ที่ถึงการหดตัวของภาคธุรกิจ  ขณะที่แนวโน้มการกู้ยืมเงินจาก ECB ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2555  โดยเฉพาะสเปน เนื่องจากเศรษฐกิจหดตัว  อัตราการว่างงานสูงถึงร้อยละ 26.6  สูงสุดในกลุ่มยูโรโซนและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อไป และรัฐบาลต้องการใช้เงินแก้ไขปัญหาภาคธนาคาร ซึ่งมี NPL สูงราวร้อยละ 10จากการแตกของฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์   ขณะที่อิตาลี มีสภาพที่ใกล้เคียง โดยเศรษฐกิจหดตัวถึงร้อยละ 2.1 และอัตราการว่างงานสูงราวร้อยละ 11  ทั้งนี้ ความต้องการใช้เงินในการแก้ปัญหาที่ยังคงเพิ่มขึ้น  สะท้อนการยืดเยื้อของวิกฤติหนี้สาธารณะ    สอดคล้องกับมุมมอง IMF คาดการณ์เศรษฐกิจยูโรโซนในปี 2556 จะยังหดตัวที่ร้อยละ 0.2 ก่อนที่หลุดพ้นจากภาวะถดถอยได้ในปี 2557   อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจยูโรโชนยังคงถูกปกคลุมไปด้วยภาพของวิกฤติหนี้ที่ยังคงยืดเยื้อ แต่กลไกและเครื่องมือในการแก้ปัญหาที่จะมีความพร้อมมากขึ้น น่าจะช่วยประคับประคองสถานการณ์ไม่ให้มีพัฒนาการไปในทิศทางที่แย่ลง   โดย การประเมินความเสี่ยงที่จะมีประเทศใดประเทศหนึ่งหลุดพ้นจากกลุ่มยูโรโซน ซึ่งสำรวจโดย  Sentix Survey  พบว่าโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวลดลงตามลำดับ หลังจากที่ทำสถิติสูงสุดของความเป็นไปได้ถึงร้อยละ 70 ในเดือนกรกฎาคม 2555P5

          ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นตัวแปรสำคัญต่อการฟื้นตัวของประเทศยูโรโซน ประกอบด้วย 1) ความล่าช้าของการส่งผ่านมาตรการต่างๆ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ จึงยากต่อการบรรลุเป้าหมายทางการคลัง 2) สถานการณ์ทางการเมืองที่ยุ่งยาก เนื่องจากเป็นปีที่จัดให้มีการเลือกตั้งในอิตาลีและเยอรมนี  โดยคาดว่าอาจส่งผลกระทบต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกในกลุ่มหากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง  โดยเฉพาะการเลือกตั้งในอิตาลีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2556  ที่ผลออกมาในลักษณะไม่มีพรรคการเมืองใดครองเสียงข้างมากในรัฐสภา  สร้างความลำบากและปัญหาต่อการจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงการบริหารประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดแนวทางในการแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจ  และเสี่ยงที่จะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ หากสถานการณ์ไร้ข้อยุติโดยเร็ว 

เศรษฐกิจญี่ปุ่น………ฟื้นตัวช้า

          เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2555 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.0 เทียบกับหดตัวที่ร้อยละ 0.6 ในปี 2554 โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะยอดคำสั่งซื้อรถยนต์ Eco-car ที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล อีกทั้งยังมีรายจ่ายในการฟื้นฟูหลังจากภัยพิบัติ เป็นแรงกระตุ้นในช่วงครึ่งปีแรก และทำให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นมาก และสร้างแรงกดดันต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง  อย่างไรก็ตาม วิกฤติเศรษฐกิจในยุโรป และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงขึ้นในช่วงไตรมาสสามได้ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกเนื่องจากญี่ปุ่นส่งออกสินค้าไปยังยุโรป สหรัฐฯ และจีนรวมกันประมาณร้อยละ 50 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด  ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปยังภาคการผลิต โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมให้ชะลอตัวลงเช่นเดียวกัน และมีแนวโน้มที่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอีกนานกว่าจะเข้าสู่ระดับปกติ

            สำหรับในปี 2556 รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของนายชินโซ อาเบะมุ่งมั่นผลักดันเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้หลุดพ้นจากภาวะถดถอยและแก้ไขปัญหาเงินฝืดที่เรื้อรังมานาน โดยดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 10.3 ล้านล้านเยน (1.16 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) มีเป้าหมายจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ร้อยละ 2.0 และสร้างการจ้างงาน 600,000 ตำแหน่ง  อีกทั้งธนาคารกลางญี่ปุ่น(BOJ)ประกาศดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในเชิงรุกมากขึ้น โดยปรับเพิ่มเป้าหมายเงินเฟ้อจากร้อยละ 1.0 เป็นร้อยละ 2.0 และที่สำคัญ คือการประกาศเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินเดือนละ 13 ล้านล้านเยน ตั้งแต่มกราคม 2557 โดยไม่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดมาตรการ      ล้วนเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และทำให้ค่าเงินเยนมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่อง เป็นปัจจัยบวกต่อภาคส่งออกนอกเหนือจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก   อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของการบริโภค จะถูกฉุดรั้งด้วยรายได้จากภาคการผลิตที่ยังคงไม่ฟื้นตัวเต็มที่และการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2556 ขยายตัวต่อเนื่องแต่ในอัตราที่แผ่วลงจากปี 2555  สอดคล้องกับมุมมองของ IMF คาดการณ์เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.2

ทั้งนี้ ในระยะต่อไปญี่ปุ่นยังมีข้อจำกัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยระดับหนี้สาธารณะที่สูงถึงร้อยละ 230 ของ GDP ทำให้รัฐบาลไม่สามารถใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปได้อีกมากนัก ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.1 ทำให้ไม่สามารถลดดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก นอกจากนี้ ปัญหาเงินฝืดของญี่ปุ่นที่เป็นตัวสะท้อนความซบเซาของการใช้จ่ายในประเทศนั้น เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยากแก่การแก้ไขให้หลุดพ้นในระยะเวลาอันสั้น และความเป็นชาตินิยมของนายอาเบะอาจทำให้ความตึงเตรียดระหว่างญี่ปุ่นกับจีนกรณีการอ้างสิทธิในหมู่เกาะทะเลจีนตอนใต้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 

เศรษฐกิจจีนขยายตัวแกร่ง………………ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกต่อเนื่อง

                   เศรษฐกิจจีนในปี 2555 ส่งสัญญาณชะลอตัวตั้งแต่ต้นปี จนถึงไตรมาสสาม ซึ่งเป็นผลจากการซบเซาของภาคส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติหนี้สาธารณะยุโรปเนื่องจากตลาดยุโรปมีสัดส่วนถึงร้อยละ 18.8 ของการส่งออกรวม กอปรกับการดำเนินมาตรการชะลอการขยายตัวภาคอสังหาริมทรัพย์  ซึ่งเป็นที่วิตกกังวลว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวอย่างรุนแรงและส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก  อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจจีนเริ่มมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสสุดท้าย โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังมูลค่า 1 ล้านล้านหยวน และการฟื้นตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก โดยมูลค่าส่งออกสินค้าในไตรมาสสี่ขยายตัวร้อยละ 9.4 เร่งขึ้นจากขยายตัวร้อยละ 4.4 ในไตรมาสสาม  เช่นเดียวกับทิศทางของดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจากระดับ49.0 ในเดือนกันยายน เป็น 50.6 ในเดือนธันวาคม การปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสสุดท้ายเป็นแรงหนุนทำให้เศรษฐกิจจีนยังคงรักษาอัตราขยายตัวในเกณฑ์สูงที่ร้อยละ 7.8  แม้เป็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำสุดในรอบ 12 ปี

P6

สำหรับในปี 2556 เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนต่อเนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายในช่วงปี 2555 ประกอบด้วย การปรับลดอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมาย การปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม กอปรกับการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1 ล้านล้านหยวนเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2555 และการเริ่มลงทุนของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ได้รับอนุมัติในปี 2555  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการพลังงานสะอาด  นอกจากนี้ภาคส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องสะท้อนจากสัญญาณที่ดีในเดือนมกราคม 2556 ที่มูลค่าส่งออกขยายตัวในอัตราเร่งร้อยละ 25 สูงสุดในรอบ 1 ปี สอดคล้องกับข้อมูลการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่เพิ่มขึ้นชัดเจน

P7

อย่างไรก็ตาม  การดำเนินโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนอย่างรวดเร็ว รวมทั้งตลาดแรงงานตึงตัวอาจทำให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และกลายเป็นเงื่อนไขที่อาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินเพื่อดูแลเถียรภาพของเศรษฐกิจ สำหรับปัจจัยด้านการเมือง การเปลี่ยนผ่านผู้นำระดับสูงทางการเมืองในรอบทศวรรษ  คาดว่าจะไม่ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายเศรษฐกิจของจีนอย่างมีนัยสำคัญ  โดยทางการจีนมุ่งเน้นการขยายตัวที่มีเสถียรภาพ กล่าวคือเป็นการเติบโตที่มีความสมดุลระหว่างภาคส่วนต่างๆในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งตั้งเป้าหมายการขยายตัวที่ร้อยละ 8.0

             ในปี 2556 นั้น  แม้จะถูกฉุดรั้งด้วยการฟื้นตัวที่ล่าช้าของประเทศยูโรโซน  แต่ในมุมมองของ TMB Analytics  เชื่อว่าทิศทางเศรษฐกิจโลกในภาพรวมมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากแนวโน้มที่ดีขึ้นในหลายๆประเทศ โดยเฉพาะในจีนและสหรัฐฯ  แม้จะไม่เป็นไปในอัตราเร่งก็ตาม  ซึ่งเป็นปัจจัยบวกส่งผ่านไปยังภาคส่งออกในประเทศต่างๆให้ปรับตัวดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งน่าจะเป็นสัญญาณที่ทำให้ประเทศต่างๆลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะต่อไป

1 thoughts on “ทิศทางเศรษฐกิจโลกปี 2556

  1. Pingback: ทิศทางเศรษฐกิจโลกปี 2556 | borderlessmagazine

ใส่ความเห็น