ทำไมคนไทยชอบพูดจาทับถมเหน็บแนมกัน

shutterstock_108796946

ผมทำงานอยู่บริษัทของฝรั่ง เพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่เป็นฝรั่ง รู้สึกแปลกใจว่า พวกเขาสุภาพและพูดจากันนุ่มนวล เช่น เวลาเช้าเจอหน้ากันที่ออฟฟิศ ก็ทักทายว่าเนคไทสวยดี หรือถ้าวันไหนผมไม่ค่อยสบาย เขาก็เข้ามาถามไถ่ว่า ทำไมยูดูโทรมๆ น่าจะลาหยุด เทียบกับบริษัทไทยๆ ที่ผมทำเมื่อก่อน มีเพื่อนร่วมงานเป็นคนไทย ผมสังเกตว่า เราพูดจากันไม่ค่อยสุภาพ เหน็บแนม เสียดสี หรือพูดกระเซ้าเรื่องเสื้อ-ผ้า-หน้า-ผม หรืออ้วนบ้าง ดำบ้าง ให้ขุ่นเคืองใจกันบ่อยๆ คนส่วนใหญ่มักคิดกันว่าคนไทยเรามีความเกรงใจ ยิ้มสวยหรือจิตใจอ่อนโยน แต่ผมว่า จริงๆ แล้วมันไม่เป็นเช่นนั้นเลยครับ

ผมคล้อยตามคุณจังเลย เพราะมีประสบการณ์ที่ไม่ต่างจากกันนัก จริงนะ เพื่อนคนไทยมักสงวนท่าที…ขี้เก๊ก…ข้อดีไม่ชม แต่ทับถมข้อด้อย…อย่าได้ทำพลาดนะ โจษจันกันไปทั่ว…ส่วนใครได้รางวัลอะไรมาก็อ้อมแอ้มชม มองด้วยหางตา ในใจก็คิดว่า “แม่มจะแน่แค่ไหนกัน”

นั่นไม่ใช่นิสัยคนไทยโดยทั่วไป อาจเรียกได้เพียง ‘ชาวไทยออฟฟิศ’ แล้วต้องกำหนดเฉพาะลงอีกว่า สำนักงานแบบไหน ย่านไหน ราชการหรือเอกชน เพราะสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมองค์กรมีส่วนกำหนดพื้นนิสัยของเราอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อนคนไทยก็ไม่ได้แย่ไปเสียทุกแห่ง หากลองไปในหมู่บ้านต่างจังหวัดจะได้ยินเสียงผู้คนร้องทักทายกันเซ็งแซ่ ถามไถ่ทุกข์สุขจนตอบกันแทบไม่ทัน

จะเปลี่ยนอุปนิสัยคนไทยในที่ทำงานคงไม่ได้แต่ลองมาเข้าใจและทำใจกับที่มาของพฤติกรรมสังคมกันสักนิดนึง

ฝรั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวอเมริกัน มีแบบแผนการทำงานและการวางตัวในสังคมที่ชัดเจนเกือบ ‘ตายตัว’ เลย โดยเฉพาะเรื่องสำนวนทักทาย, การบริหารบทสนทนาสั้นๆ ในภาวะเร่งรีบ ที่เรียกว่า Small Talk, การแสดงความเห็น ชมเชย หรือให้กำลังใจ, ตลอดจนการเจรจาปราศรัยใดๆ ที่เรียนรู้ท่องจำกันได้เป็นคัมภีร์ ดังนั้น สำนวนลีลาที่คุ้นหูคุ้นตากันแต่ละวันเรียกได้ว่าเป็น ‘วัฒนธรรมสำนักงาน’ ที่ยอมรับกันเป็นสากล

ประมาณปี 1922 Emily Post นักเขียนชื่อดังคอลัมน์ถาม-ตอบที่สหรัฐอเมริกา สร้างความตื่นตัวให้กับคนทำงานออฟฟิศเกือบทั้งประเทศ ด้วยคำพูดของเธอว่า “ไมตรีจิตและการสร้างความพึงพอใจต่อกันและกัน มิใช่มีไว้เพียงเพื่อรักษามารยาทเท่านั้นหากแต่เป็น ‘หน้าที่’ ของเราทุกคนอีกด้วย” (To make a pleasant and friendly impression is not only good manners but equally good business.) พูดง่ายๆ คนเราไม่ได้มีหน้าที่เพียงมาทำมาหากินนะ แต่ควรใส่ใจกับความพึงพอใจและไมตรีจิตต่อเพื่อนรอบตัวด้วย

อมตพจน์นี้จึงขับเคลื่อนฝรั่งให้ใส่ใจดูแลรักษามารยาทอย่าง ‘เป็นหน้าที่’ แต่การทำตามกันและโต้ตอบรวดเร็วฉับไวนี้ อาจไม่ลึกซึ้งพอที่จะเหมาว่าเขา ‘ใส่ใจ’ หากแต่ยังลอยอยู่ที่ผิวๆ ให้เห็นเป็น ‘จารีต’ เสียมากกว่า

นักวิชาการเรียกแนวพฤติกรรมแบบนี้ว่า Low Context ซึ่งตรงข้ามกับคนไทยที่มีพฤติกรรมแบบ High Context ทั้งนี้ Low มิได้หมายความว่าด้อยค่า และ High ก็มิได้แปลว่าสูงส่ง

Low Context หมายถึงสิ่งที่เห็นชัดเจน ตายตัว เป็นกฎเกณฑ์ ไม่ต้องอ่านระหว่างบรรทัด ไม่ต้องรีรอให้ใครมาแนะนำกัน ไม่รอนับญาติ เห็นปุ๊บทักปั๊บเรียกชื่อเล่นกันทันที และเมื่อพูดคุยกันไปแล้วก็ไม่คิดมาก หากพรุ่งนี้จะทักเรื่องเดิม ก็ไม่รู้สึกเปิ่น

ในขณะที่พวก High Context นั้นลีลามาก นับญาติกันก่อน หาหัวนอนปลายเท้าไม่ได้ก็ยังไม่คบ ถ้าเธอไม่คุยมา ฉันก็สงวนท่าทีไม่คุยไป จะพูดอะไรก็คิดมาก สังเกตลมฟ้าภาษากาย สำเนียง สำนวน บริบท จนดูวุ่น แต่ครั้นพูดไปแล้วก็หมายความอย่างที่พูดจริงๆ ว่ากันว่า High Context ทำให้คนไทย ‘ปากหนัก’ กว่าฝรั่ง

แนวคิดอีกเรื่องที่สร้างความแตกต่างระหว่างฝรั่งกับไทยในวัฒนธรรมสื่อสารที่สำนักงานคือ การรักษาช่วงห่างของปฏิสัมพันธ์ หรือ Power Distance กล่าวคือ กลุ่มวัฒนธรรมที่มี Power Distance สูงนั้น มักจะยอมรับว่าสังคมของตนมีที่ต่ำที่สูงอย่างเปลี่ยนแปลงไม่ได้ วัยวุฒิ ชาติวุฒิ คุณวุฒิ และสถานะทางสังคม เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ต้องใคร่ครวญไตร่ตรองก่อนจะพูดจากัน หาไม่แล้วอาจพลั้งพลาดเหยียบเท้าใครได้ จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่คนไทยรีๆ รอๆ ที่จะทักทายกันแบบเสมอหน้า

ความเกรงใจแบบไทยๆ ซึ่งงอกงามขึ้นมาจาก Power Distance นั้น ก็เป็นตัวอย่างข้อหนึ่งว่าเราคนไทยยอมรับว่าเรามิได้เสมอภาคกันไปเสียทุกเรื่อง

ผมไม่มีหลักวิชาใดๆ มาวิเคราะห์ว่าทำไมคนไทยจึงชอบกระเซ้า (แซว) แทนที่จะทักทาย หรือชอบเสียดสีมากกว่าชื่นชม แต่หากลองนำลักษณะชอบสนุกของคนไทยซึ่งโดดเด่นในพฤติกรรมไทยเรา มาหักลบกับเรื่อง Power Distance ที่กำกับให้เราต้องคิดระวังที่ต่ำที่สูงอยู่ร่ำไปนั้น อาจพออธิบายรางๆ ได้ว่า เมื่อใดที่เราขี้เล่นและเย้าแหย่ใครได้ ระยะทางของสังคมจะหายไป เสียงหัวเราะทำให้เรารู้สึก ‘เสมอภาคกัน’

แต่ผมก็ตอบไม่ได้ว่า ทำไมเวลาคนไทยเห็นใครหกล้ม หรือพลาดลื่นไถล พี่ไทยมักจะหัวเราะก่อนจะวิ่งเข้าไปช่วยเหลือ?

ทั้งนี้ อยากทำให้สังคมเล็กๆ ของเราเป็นอย่างไร เริ่มต้นที่ตัวเองก่อนเลย อย่าเขิน อย่าโทษวัฒนธรรม ความกล้าแสดงออกเป็นคุณสมบัติที่น่าชื่นชมเสมอ หากการแสดงออกนั้นนำมาซึ่งไมตรีจิตและความพึงพอใจแก่ทุกฝ่าย

ใส่ความเห็น