work-life balance ที่เหมาะสมควรจะเป็นอย่างไร?

shutterstock_168104306

ผมค่อนข้างอึดอัดกับความขยันของเจ้านาย เขามาแต่เช้าและกลับบ้านดึกทุกวัน กินข้าวกลางวันในออฟฟิศด้วย ในขณะที่ผมและพวกเพื่อนร่วมงานรุ่นๆ เดียวกัน เราไม่ได้ต้องการจะทุ่มเทชีวิตให้กับงานขนาดนั้น แค่อยากทำงานให้เสร็จ ให้ดีแล้วก็รับเงินเดือน แต่บรรยากาศการทำงาน โดยเฉพาะในที่ประชุมใหญ่ประจำเดือน เจ้านายมักจะพูดทำนองว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยขยัน ไม่ค่อยทุ่มเท ซึ่งมันจะมีผลต่อการประเมินเงินเดือนและโบนัสประจำปีการทำงานกับเจ้านายแบบนี้ควรทำตัวอย่างไร?

ถ้าจะบอกว่า ‘ต้องทำใจ’ หรือ ‘ทำตามใจเขาเถิด’ คำตอบจะ ‘กำปั้นทุบดิน’ ไปไหม? ในโลกของการทำงาน เรามักได้ยินประโยคซ้ำๆ เช่น อยากได้เงินเขาก็ต้องทน, อยู่ได้ก็อยู่ไป อยู่ไม่ไหวก็ลาออก หางานใหม่ที่เราทำแล้วสบายใจ หรือ Take it or leave it เป็นต้น แต่ทว่า ในชีวิตจริง เราอาจกำลังทำ ‘งานที่ชอบกับนายที่(เรา)ไม่ชอบ’ ซึ่งนั่นคือประเด็นที่ทำให้เรากำลังมองหาดุลยภาพในงานและชีวิต หรือ Work-life balance

หากมาตรฐานของคำว่างาน คือทำให้เสร็จสมบูรณ์ในเวลาที่ตกลงกันไว้ มีคุณภาพดี และได้รับค่าตอบแทนอันเหมาะสม แล้วจะไปกลัวอะไร ในเมื่อท้ายที่สุด งานก็สัมฤทธิผลและมีคุณภาพ บริษัท (และนาย) ก็ได้รับผลประโยชน์ ดังนั้น การทำงานกับนายแบบนี้ ภายใต้เจตนารมณ์ที่แข็งแรงของคุณ จึงควรตามใจเขาครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งควรชี้แจงและแสดงให้เห็นว่านายจะได้ประโยชน์ยิ่งขึ้น เมื่อผู้ใต้บังคับบัญชามีความสุขกับงาน มีสุขภาพกาย ใจ และวุฒิภาวะทางอารมณ์ดี เพราะได้พักผ่อนเหมาะสม ได้ฟังข่าว ได้เข้าสังคม ใส่ใจเรื่องข้างเคียงบริษัท สังสรรค์พูดคุยกับชาวบ้านให้เป็นทุนทางสังคมไว้อย่างแข็งแรง…แล้วหากนายยังเห็นว่า นี่เป็นเรื่องไร้สาระ ดูคุณไม่ค่อยขยัน แถมยังประเมินเงินเดือนกับโบนัสอย่างอยุติธรรมแล้วละก็ ควรหางานใหม่ได้เลย

ที่บอกว่า ตามใจนายครึ่งหนึ่ง ก็ด้วยเหตุว่า งานทุกอย่างในโลกนี้ ต้องมีปัจจัยและเหตุผลขององค์กรเองอยู่ครึ่งหนึ่ง องค์กรใดๆ ก็มีนโยบาย วัฒนธรรม และค่านิยมเฉพาะทั้งนั้น ส่วนสไตล์การทำงานของนายก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ จะไปฝืนเขาไม่ได้ ตราบใดที่ปัจจัยเหล่านี้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของการทำงานโดยทั่วไปของประชาคมนั้น เช่น อุตสาหกรรมผลิตและการตลาดรถยนต์ เงินทุนหลักทรัพย์ หรือสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งมีพลวัต (Dynamism) ทางการตลาดและการแข่งขันสูงตลอดเวลา หากทำงานกับกลุ่มนี้ ก็ต้องทำใจกับธรรมชาติของงาน จะไปทำชิล ชิล ลั้ลลา ไม่ได้

กว่าสิบปีมาแล้ว นักวิชาการพฤติกรรมองค์กรชื่อ Perrewé และ Hochwarter กำหนดแผนผังที่อธิบายขั้นตอนอันจะนำไปสู่ดุลยภาพของงานซึ่งประกอบไปด้วย ค่านิยมทั่วไปของคนเราในท้องถิ่นนั้นๆ (General Life Values), ค่านิยมและความต้องการของที่บ้าน (Family Values), วัฒนธรรมองค์กร (Work Values), และความสอดคล้องกันระหว่างค่านิยมในเนื้องานนั้นกับค่านิยมส่วนตัว (Value Congruence/Similarity)

ปัจจัยเหล่านี้เอง หากชั่งตวงกันให้ดี จะนำไปสู่ความลงตัวในชีวิตก็ได้ หรือลดความขัดแย้งก็ได้ ดังนั้น ใช่ว่าเราจะเรียกร้องให้นายเข้าใจเราเสมอไป หากเราได้ตกลงปลงใจไปยอมรับธรรมชาติของงานเหล่านั้นไปแล้ว

เพื่อนคนหนึ่งเคยต้องเผชิญกับงานและนายเหมือนโจทย์ข้างต้น วันหนึ่งเขาเข้าไปพบนายเมื่อเวลาห้าทุ่มเขาบอกนายอย่างหนักแน่น ใช้ประโยคสั้นๆ ช้าๆ ชัดๆ ไม่ชักแม่น้ำทั้งห้าใดๆ ว่า “ผมคิดว่าเราทำงานดึกกันแบบนี้มานาน สุขภาพของพี่และผมก็แย่ลง ต่างคนต่างเครียด พี่คิดว่าเราจะมาลองปรับวิธีการทำงานกันดีไหมครับ”

เลี่ยงการอ้างเหตุผลส่วนตัว เช่น ขอเจอเพื่อน พาแฟนไปช้อปปิ้ง เข้าคอร์สโยคะ หรือเรียนหนังสือภาคค่ำ เพราะอาจถูกนายสวนกลับว่า “ก็รู้แต่แรกมาสมัครแล้วไม่ใช่หรือว่างานมันหนัก”

ก่อนพูด ควรตระหนักว่า งานของตนเนี้ยบและสมบูรณ์ โดยมิต้องอยู่ดึกก็สามารถผลิตงานคุณภาพได้ และหากจะให้โต้แย้งเมื่อประชุมใหญ่ เราก็ชี้แจงด้วยความมั่นใจได้ว่าเราสร้างประโยชน์แก่บริษัทโดยปราศจากข้อบกพร่อง ที่สำคัญคือ เรารู้วิธีการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและให้คำตอบได้ ถ้านายอาจโต้แย้งด้วยเหตุผลเดิมๆของนาย

ยังมีอีกเรื่องที่ต้องไตร่ตรอง คือ ยุคหรือรุ่นของเราชาวมนุษย์เงินเดือน หรือ Generations ผมเดาว่าคุณอาจมีนายเป็นพวก Baby Boomer ซึ่งถูกบ่มสอนให้ทุ่มเทเพื่องานมากกว่าชีวิตส่วนตัว ในขณะที่คุณอาจเป็น Gen Y ซึ่งแสวงหาดุลยภาพของชีวิตในทุกๆ ด้าน อุดมการณ์ของแต่ละคนที่มาพร้อมกับรุ่นและวัย มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตตั้งแต่การมองโลก การทำงาน การใช้เทคโนโลยี เรื่อยไปจนถึงการกินอยู่

หากจะโต้แย้งกับใคร ต้องดูที่ Gen มิฉะนั้น เราอาจพูด ‘คนละเรื่องเดียวกัน’ หรือใช้ตรรกะที่ต่างกันโดยสิ้นเชิงตราบใดที่พรรคพวกส่วนใหญ่ในที่ทำงานยังมิใช่ Gen Y ด้วยกัน โอกาสต่อรองอาจมีน้อย

ปัจจุบันมีกลไกการประเมินที่น่าจะช่วยคุณได้ เช่น Balance Score Card หรือระบบ KPI (Key Performance Indicators) ซึ่งประมวลผลิตภาพ (Productivity) ของงานจากทุกๆ มิติในองค์กรรายงานจากระบบเหล่านี้อาจช่วยคุณแก้ไขหรือรับมือกับนายที่ขยันเกินไปได้บ้าง

ใส่ความเห็น